แหล่งท่องเที่ยว เทศบาลตำบลวังดิน อนุสาวรีย์สามครูบา | วัดลี้หลวง | ศาลหลักเมืองลี้ | วัดพระธาตุดวงเดียว | วัดพระธาตุห้าดวง อนุสาวรีย์สามครูบา อนุสาวรีย์สามครูบา ตั้งอยู่บริเวณลานกว้างตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอลี้ การเดินทางมาสักการะอนุสาวรีย์สามครูบา เดินทางจากตัวเมืองลำพูนมาตามถนนสาย 106 ลี้-ลำพูน ประมาณ 105 กิโลเมตร ถึงตัวอำเภอลี้เจอสี่แยกไฟแดง อนุสาวรีย์สามครูบาจะอยู่ทางขวามือ อนุสาวรีย์สามครูบา สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษา และ ในโอกาสที่สถาปนา อำเภอลี้ ครบ 100 ปี อนุสาวรีย์สามครูบาประดิษฐานรูปเหมือนครูบา 3 ท่าน ประกอบด้วย ท่านแรก คือ ครูบาเจ้าศรีวิชัย (ถือกำเนิดที่ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้) แห่งวัดบ้านปาง ท่านได้ก่อสร้างและบูรณะปฏิสังขรวัดวาอารามในล้านนาไว้มากมาย อาทิเช่น ก่อสร้างพระธาตุบ้านปาง พระธาตุแม่ตืน สร้างประตูเมืองลี้ สร้างวิหารวัดพระสิงห์ บูรณะหอธรรมวัดพระสิงห์ สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ สร้างวิหารวัดพระนอนขอนม่วง จังหวัดเชียงใหม่ บูรณะพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย สร้างพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ สร้างวิหารหลวงวัดทุ่งเอื้อง จังหวัดพะเยา สร้างวิหารพระแก้วลำปาง วิหารวัดพระแก้วดอนเต้า จังหวัดลำปาง และอีกมากมายในพื้นที่ภาคเหนือ ท่านที่สอง คือ ครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี ศิษย์เอกของครูบาเจ้าศรีวิชัยแห่งวัดพระพุทธบาทผาหนาม ครูบาผู้มีจริยวัตรที่งดงาม ผู้สืบต่องานพัฒนาจากครูบาเจ้าศรีวิชัยในฐานะนักบุญ ครูบาผู้ทรงความงดงามในศีล บารมี ไม่แพ้ท่านอาจารย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย นอกจากนี้ท่านยังได้บูรณะปฏิสังขรวัดวาอารามและสถานที่สำคัญๆมากมาย อาทิเช่น วัดพระพุทธบาทผาหนาม โรงเรียนบ้านสามหลัง(อภิชัยบูรณะ) อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่และโรงพยาบาลอีกมากมาย นอกจากสถานที่ที่ท่านได้บูรณะแล้วท่านยังคงสร้างสรรค์งานต่างๆในรูปถาวรวัตถุ ทั้งในด้านพุทธจักร และอาณาจักรไว้อย่างมากมายเหลือคณา โดยมีโล่ห์จากทางราชการแสดงไว้ให้เห็นเป็นประจักษ์พยาน ถึงเกียรติคุณ นอกจากนี้ท่านยังได้เผยแพร่ธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา สร้างความเชื่อมใสศรัทธาให้เกิดแก่ชาวกระเหรี่ยงที่อพยพมาอยู่ตามเชิงดอยผาหนาม จนสามารถเปลี่ยนความเชื่อจารีตประเพณีของชาวกระเหรี่ยงที่นับถือผีไหว้เจ้า ให้หันมาเลื่อมใสศรัทธา ในพระพุทธศาสนา และหันมากินมังสิวัตแทนเนื้อสัตว์ ท่านสุดท้าย คือ ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา แห่งวัดพระบาทห้วยต้ม ครูบานักพัฒนา โดยเส้นทางการพัฒนาของท่านเป็นเส้นทางที่ลึกซึ้งไปกว่าที่สายตาคนทั่วไปมองเห็น ท่านได้ธุดงค์ไปทั่วประเทศ ด้วยวัตรปฏิบัติและคำสั่งสอนของท่านทำให้ชาวไทยภูเขาที่พเนจรร่อนเร่ ตั้งใจอพยพครอบครัวมาตั้งหลักแหล่งอยู่ใกล้ๆกับท่าน ท่านได้เปลี่ยนคนที่นับถือผีให้กลายเป็นพุทธศาสนิกชนที่สมบูรณ์ และได้เปลี่ยนคนที่กินเนื้อสัตว์แทบทุกชนิด มาเป็นคนที่กินมังสวิรัติ ที่ “บ้านห้วยต้ม” พัฒนาชาวเขาที่ด้อยความรู้ ที่ไร้ฝีมือ ให้ช่วยสร้างโบสถ์สร้างศาลา สอนวิชาช่างให้แก่ชาวเขาเหล่านั้นจนเป็นความรู้ที่ติดต่อ และส่งผ่านความรู้เหล่านั้นสู่ลูกหลานจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ในวันที่ 18-20 เมษายน ของทุกปี เทศบาลตำบลวังดินได้จัดกิจกรรมเปลี่ยนผ้าและสรงน้ำรูปเหมือนสามครูขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนทุกท่าน ได้มีโอกาสแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ต่อคุณงามความดี ที่ครูบาทั้งสามท่านได้ทำไว้แก่ประชาชนชาวลี้และคนล้านนา โดยมีพิธีบวงสรวงชุมนุมเทวดา ขบวนแห่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ และแห่สลุงหลวง แล้วทำพิธีเปลี่ยนผ้ารูปเหมือนสามครูบาและสรงน้ำอนุสาวรีย์สามครูบาสืบเนื่องกันมาตลอดทุกปี อนุสาวรีย์สามครูบา | วัดลี้หลวง | ศาลหลักเมืองลี้ | วัดพระธาตุดวงเดียว | วัดพระธาตุห้าดวง วัดลี้หลวง วัดลี้หลวงตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นวัดที่ตั้งขึ้นมานานแล้วโดยมีความเกี่ยวข้องกับความเป็นมาของเมืองโบราณที่เรียกว่า เวียงเก่า หรือเวียงเจดีย์ ดังนี้ เวียงเก่าหรือเวียงเจดีย์เป็นเมืองโบราณซึ่งร้างไปนานแล้ว แต่มีหลักฐานอันเป็นซากตัวเมืองร้างอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดลี้หลวง ห่างประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ หลักฐานที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันมีกำแพงเมืองเก่าที่ก่อด้วยอิฐดินเผา คูเมือง ซากสิ่งก่อสร้างอันมีเจดีย์เก่า กองอิฐและรากฐานสิ่งก่อสร้างที่สร้างด้วยอิฐดินเผาแบบโบราณก้อนโตๆ ซึ่งเชื่อว่าเป็นซากของโบสถ์หรือวิหาร กองอิฐหรือซากอิฐโบราณเหล่านี้ปรากฏให้เห็นอยู่เป็นแห่งๆทั้งในและนอกกำแพงเมืองเก่า หลักฐานซากสิ่งก่อสร้างที่เชื่อกันว่าเป็นเมืองหรือวัดเหล่านี้ ไม่ปรากฏหลักฐานในทางประวัติศาสตร์ว่ามีความเป็นมาอย่างใด แต่สันนิษฐานจากซากสิ่งก่อสร้างที่ปรากฏให้เห็นประมาณกาลเวลาได้ว่าคงเป็นเมืองโบราณที่สร้างหรือมีอยู่เมื่อประมาณพันปีเศษมาแล้ว คืออาจะก่อนประวัติคนไทยอพยพมาอยู่ในบริเวณนี้ ที่เชื่อและสันนิษฐานดังนี้ เนื่องจากสิ่งก่อสร้างที่ชำรุดทรุดโทรมผุพังลงนั้นมีมูลดินทับถมและจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันเล่าว่า ก่อนที่ครูบาศรีวิชัย นักบุญชาวอำเภอลี้หรือที่เรียกกันทั่วไป นักบุญแห่งล้านนาไทย จะมาทำการบูรณะเจดีย์ที่เวียงเก่าหรือเมืองโบราณเมื่อปีพ.ศ.2470 นั้น บริเวณนั้นมีต้นไม้ใหญ่ขนาด 2 – 3 คนโอบรอบขึ้นอยู่ทั่วไป เป็นป่ารกทึบ ปัจจุบันก็ยังมีปรากฏให้เห็นเป็นแห่งๆอยู่ สังเกตจากลักษณะและขนาดของต้นไม้ที่เกิดขึ้นหลังจากเมืองร้างไปแล้วนั้น ประมาณได้ว่าไม่น้อยกว่าพันปี นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวเล่าสืบต่อๆกันมาว่า เวียงเก่าหรือเมืองโบราณนี้ เป็นเมืองของพวกขอมหรือละว้า เรื่องราวที่เล่ากันมามีว่า ครั้งเมืองเก่ายังรุ่งเรืองอยู่นั้นมีสิ่งก่อสร้างอันเป็นที่อยู่อาศัย วัดวาอาราม โบสถ์ วิหาร เจดีย์ กำแพงเมือง มีผู้คนอาศัยอยู่จำนวนมาก ครั้นถึงสมัยประวัติศาสตร์ คนไทยอพยพมาอยู่จึงได้มีการต่อสู้แย่งชิงที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ระหว่างคนไทยกับคนชาติอื่นที่อาศัยอยู่เดิม เมื่อเจ้าของถิ่นเดิมไม่อาจต่อสู้อยู่ได้ก็ถูกขับไล่หนีไป สิ่งก่อสร้างต่างๆอันเป็นบ้านเป็นเมืองก็ถูกทำลายย่อยยับตามธรรมเนียมการสู้รบสมัยโบราณ ส่วนบริเวณอันเป็นที่ตั้งวัดลี้หลวงนี้ เดิมก็เป็นซากวัดเก่าร่วมสมัยกับเวียงเก่า และได้มีการสร้างวัดนี้ขึ้น ณ ที่นี้ครั้งหนึ่งแล้ว แต่ภายหลังก็ร้างไปอีก เนื่องจากผู้คนที่อพยพมาอยู่ครั้งนั้นได้อพยพหนีต่อไปอีก จึงทิ้งบ้านเรือน วัดวาอารามให้ร้างอีกครั้งหนึ่ง จนมาถึงสมัยที่มีการต่อสู้กันระหว่างคนไทยล้านนากับคนไทยศรีอยุธยา ผู้คนจึงอพยพจากเมืองเชียงใหม่ – ลำปาง หนีภัยศึกการสู้รบมาอยู่ ณ ที่แห่งนี้ โดยเป็นที่หลบลี้หนีภัย จึงได้เรียกชื่อแหล่งที่อยู่ใหม่นี้ว่า เมืองลี้ ตั้งชื่อแม่น้ำที่ไหลผ่านว่า แม่น้ำลี้ ต่อมาเมื่อมี พรบ.การปกครองท้องถิ่นใช้บังคับ จึงได้ตั้งชื่อว่า แขวงเมืองลี้ และเป็นอำเภอลี้ในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อได้อพยพหลับภัยศึกมาตั้งหลักแล่งอยู่ครั้งหลังสุดนี้ ผู้คนที่มาอยู่ซึ่งเป็นคนไทยพื้นเมือง จึงได้ปฏิสังขรณ์วัดเก่าแก่แห่งนี้ขึ้น โดยสร้างวิหารขึ้นครอบซุ้มที่ประดิษฐานพระพุทธรูปของเดิมที่มีอยู่พร้อมกับพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ อันเป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในซุ้มนั้นมาแต่เดิม รวม 3 องค์ ก็คือพระพุทธรูปที่ปรากฏในปัจจุบันนั่นเอง พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้เป็นพระที่ศักดิ์สิทธิ์และมีค่ายิ่ง เป็นที่เคารพบูชาของชาวเมืองลี้โดยทั่วกัน เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปโบราณได้เคยมีคนร้ายพยายามมาลักขโมยหลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถนำไปได้ ครั้งหลังสุดเมื่อกลางปี พ.ศ. 2518 ได้มีคนร้ายพยายามขโมยเอาพระพุทธรูปทั้งสามองค์ไป แต่ก็ไม่สามารถยกหรือหามออกไปจากซุ้มไปได้ ความพยายามของคนร้ายทำให้พระกรรณข้างขวาของพระพุทธรูปองค์หนึ่งบิ่นไป เมื่อก่อนที่ครูบาศรีวิชัย จะได้มาทำการบูรณะเจดีย์ที่เวียงเก่า ได้มีผู้ไปพบพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์หนึ่งที่ซากวัดร้างกลางเมืองเก่า ความทราบถึงเจ้าอาวาสวัดลี้หลวง จึงได้นำคณะศรัทธาไปอัญเชิญมาไว้ ณ วัดลี้หลวง ต่อมาเมื่อได้มีการสร้างอุโบสถขึ้นเป็นการถาวร จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปดังกล่าวเข้าไปประดิษฐานไว้ในอุโบสถ จนตราบเท่าทุกวันนี้ พระพุทธรูปองค์นี้ ท่านเจ้าคุณอดีตเจ้าคณะจังหวัดลำพูน กล่าวว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะที่สวยงามมากที่สุดในจังหวัดลำพูน โดยที่วัดลี้หลวงเป็นวัดเก่าแก่และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป แต่ปรากฏว่าสิ่งก่อสร้างของวัดอันเป็นเสนาสนะเช่น กุฎิ เป็นต้นรวมทั้งวิหาร เป็นสิ่งที่ก่อสร้างมานาน เก่าและชำรุดทรุดโทรม สมควรที่จะได้บูรณปฏิสังขรณ์สร้างขึ้นมาใหม่ ให้เหมาะสมที่จะใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของพระภิกษุ-สามเณรและพุทธศาสนิกชนทั่วไป ทั้งยังเป็นการรักษามรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ แต่เนื่องจากขาดทุนทรัพย์และวัสดุอุปกรณ์อีกมากมาย ปัจจุบันกำลังทำการก่อสร้างศาลาการเปรียญที่ยังคงค้างการก่อสร้างและต้องใช้ปัจจัยอีกมากมาย อนุสาวรีย์สามครูบา | วัดลี้หลวง | ศาลหลักเมืองลี้ | วัดพระธาตุดวงเดียว | วัดพระธาตุห้าดวง ศาลหลักเมืองลี้ ศาลหลักเมืองลี้ ตั้งอยู่ที่ด้านหลังวัดลี้หลวง ถนนศาลหลักเมือง บ้านลี้ หมู่ที่ 6 ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน การเดินทางไปสักการะศาลหลักเมืองลี้ มาตามทางหลวงพหลโยธินลำพูน – ลี้ ถึง อำเภอ.ลี้ แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงสาย ลี้ – ลำปาง ประมาณ 50 เมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าบ้านลี้อีกประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะถึงศาลหลักเมือง ศาลหลักเมืองลี้แห่งนี้ เป็นศาลที่มีความศักดิ์สิทธิ์และสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของอำเภอลี้มาแต่สมัยโบราณ โดยมีนามเรียกว่า องค์หลักเมืองเวียงลี้ (พระขันธ์ชัยเทวราช) รวม 5 พระองค์ คือ พระเจนเมือง ,พระเสื้อเมือง ,พระทรงเมือง ,เจ้าจองสูง และเจ้ากลางเวียง พระขันธ์ชัยเทวราช หมายถึง เป็นผู้รักษาประตูเมืองลี้ เชื่อกันว่า ถ้าได้ผ่านเข้ามาอำเภอลี้แล้วต้องมากราบไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ได้รับโชคลาภ อยู่เย็นเป็นสุข ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงข้าราชการที่มารับตำแหน่ง หรือมาทำราชการในอำเภอลี้จะต้องมาบอกกล่าวทุกครั้งเพื่อความเป็นสิริมงคล เดือน 9 ขึ้น 9 ค่ำของทุกปี เป็นวันที่พี่น้องประชาชนชาวอำเภอลี้ได้ร่วมใจกันประกอบพิธีบวงสรวงศาลเจ้าพ่อหลักเมือง หรือประเพณีเลี้ยงผีเมือง ซึ่งศาลเจ้าพ่อหลักเมืองลี้ ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญยิ่งสมัยแต่โบราณ เพราะการทำพิธีบวงสรวงหรือการเลี้ยงผีเมืองนี้ ได้จัดเลี้ยง เพื่อถวายให้กับเจ้าผู้ปกครองเมืองลี้ทุกองค์ ประกอบไปด้วย 1. เจ้าเจนเมือง(เจ้าพ่อเมือง) 2. เจ้าอุ่นเมือง 3. เจ้าจองสูง 4. เจ้าปูเหลือง 5. เจ้าตะเมาะ 6. เจ้าข้อมือเหล็ก 7. เจ้านิ้วมืองาม(กลางเวียง) เจ้ากลางเวียงนิ้วมืองามเป็นเจ้าเมืองปกครองเมืองลี้องค์สุดท้าย ศาลหลักเมืองลี้จึงเป็นศูนย์รวมจิตใจ ของประชาชนชาวอำเภอลี้มาโดยตลอด อนุสาวรีย์สามครูบา | วัดลี้หลวง | ศาลหลักเมืองลี้ | วัดพระธาตุดวงเดียว | วัดพระธาตุห้าดวง วัดพระธาตุดวงเดียว (เวียงเจดีย์) วัดพระธาตุดวงเดียว (เวียงเจดีย์) ตั้งอยู่ที่ บ.พระธาตุห้าดวง ม.15 ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน เป็นวัดขนาดเล็กอยู่บนเนินไม่ไกลจากตัวเมืองลี้มากนัก จาก อ.ลี้ ใช้ทางหลวงหมายเลข 106 ไปทาง อ.เถิน จ.ลำปาง ประมาณ 1.7 กม. วัดอยู่ซ้ายมือ ก่อนถึงวัดพระธาตุห้าดวง ประมาณห้าร้อยเมตร ตามตำนานกล่าวว่า พระนางจามรีหนีภัยสงครามจากหลวงพระบาง มาสร้างเมืองลี้ โดยช้างมงคลได้ทำกิริยา 5 ประการ แล้วล้มลงขาดใจตาย พระนางฯ จึงสั่งให้เผาซากช้างแล้วก่อเจดีย์ครอบไว้ แล้วสร้างเมืองลี้ ณ สถานที่แห่งนี้คือ วัดพระธาตุดวงเดียว ปัจจุบันยังคงมีร่องรอยของคันคูเวียงให้เห็นอยู่บ้างตามริมถนนพหลโยธิน ครูบาศรีวิชัยได้พาลูกศิษย์ พร้อมทั้งพระ เณร บูรณะบริเวณพระวิหารเก็บอิฐที่พังตกลงมาเกลื่อน เรียงเป็นฐานพระเจดีย์ จากนั้นครูบาอภิชัยขาวปี ได้มาจำพรรษาที่วัดนี้ 9 พรรษา และสร้างศาลาหลังหนึ่ง ต่อมาปี พ.ศ. 2532 หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา พร้อมด้วยคณะศิษย์ ได้มาบูรณะพระธาตุ ต่อจากครูบาศรีวิชัย จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2538 พร้อมทั้งได้สร้างกุฏิไม้ หนึ่งหลัง ในปีต่อมาสิ่งปลูกสร้างในวัดรวมทั้งองค์พระธาตุล้วนสร้างขึ้นมาภายหลังมีอายุไม่เกิน 80 ปี โดยสร้างบนตำแหน่งเมืองโบราณเดิมและ เจดีย์พระธาตุดวงเดียวเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ทรงเหลี่ยม ย่อมุมรูปทรงเพรียวชะลูด สูงประมาณ 30 ม.สร้างครอบเจดีย์องค์เดิมจนไม่เหลือเค้าเจดีย์เก่า อนุสาวรีย์สามครูบา | วัดลี้หลวง | ศาลหลักเมืองลี้ | วัดพระธาตุดวงเดียว | วัดพระธาตุห้าดวง วัดพระธาตุห้าดวง (เวียงเจดีย์ห้าหลัง) วัดพระธาตุห้าดวง (เวียงเจดีย์ห้าหลัง) ตั้งอยู่ที่ตำบลลี้ สามารถเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 106 (มุ่งหน้าไปสู่วัดพระบาทห้วยต้ม) ห่างจากที่ว่าการอำเภอลี้ประมาณ 2 กิโลเมตร ทางด้านซ้ายมือ จะถึงวัดพระธาตุดวงเดียวก่อน จากนั้นอีกสักห้าร้อยเมตร ก็จะเห็นซุ้มประตูโขงขนาดใหญ่ ของวัดพระธาตุห้าดวง ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนเนินเขา ด้านซ้ายมือ ประดับกระจกและสวยงามมาก สันนิษฐานว่าเป็นบริเวณเวียงเก่าลี้ เพราะมีซากกำแพงและคูเมืองตั้งเป็นแถว วัดนี้เป็นที่ตั้งของหมู่เจดีย์ 5 องค์ ตามตำนานกล่าวว่าพระนางเจ้าจามเทวี กษัตริย์ครองเมืองหริภุญไชย ได้ยินข่าวจากราษฎรเมืองลี้ว่ามีดวงแก้ว 5 ดวง ปรากฏเห็นอยู่บ่อยครั้ง จึงได้เสด็จมาดูด้วยพระองค์เอง เวลากลางคืนจึงได้ทอดพระเนตรเห็นแสงสว่างจากดวงแก้วทั้ง 5 ดวง ลอยอยู่บนกองดิน 5 กอง จึงได้สอบถามความเป็นมาก็ทราบว่า คือพระเมโตธาตุ (น้ำไคลมือ) ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะเจ้าที่เคยล้างพระหัตถ์ และน้ำก็ไหลผ่านปลายนิ้วทั้ง 5 ลงพื้นดิน พระนางจึงเกิดศรัทธาสร้างพระธาตุเจดีย์ครอบกองดินทั้ง 5 กองไว้ และในวันที่ 20 เมษายน ของทุกปี จะมีประเพณีสรงน้ำพระธาตุห้าดวง ภายในบริเวณวัดประกอบด้วยอาคารต่างๆ มากมาย แต่ที่เด่นสะดุดตาเป็นจุดสนใจตั้งแต่จอดรถ ก็คือ "วิหาร 9 ครูบา" ในระหว่าง พ.ศ.2364 - 2368 เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น เป็นผู้ครองนครลำพูน ท่านได้ทำการบูรณะเมืองลำพูนเป็นอย่างดี ตามข้อความในพงศาวดารลี้ ฉบับพื้นเมืองอักษรล้านนาจารึกลงใบลานว่า "เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น" ได้นำบริวารมาปรับปรุงเมืองลำพูนไปตามสายแม่น้ำลี้ ไปตลอดจนถึงเมืองลี้ มิได้เข้าไปในเวียง คงตั้งอยู่ที่เชิงเขาพระธาตุ 5 ยอดนั่นเอง แล้วก็ทำการซ่อมแซมองค์พระธาตุจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี หลังจากนั้นก็ได้มีพระครูบา 6 รูป ได้มาปฏิบัติธรรมบำเพ็ญภาวนาและดูแลรักษารวมถึงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุ ห้าดวง พระครูบาทั้ง 6 รูป มีรายนามดังนี้ 1. ครูบากิตติ 2. ครูบามหาสมณะ 3. ครูบามหามังคลาจารย์ 4. ครูบามหาสวามี 5. ครูบามหาเตจา 6. ครูบาจะวรรณะ ปัญญา ครูบาทั้ง 6 นี้ หลวงปู่พระครูบาวงศ์ (วัดพระบาทห้วยต้ม อ.ลี้) ท่านได้สร้างพระรูปเหมือนทั้ง 6 ครูบา ประดิษฐานไว้ในวิหารเก้าครูบา ซึ่งอยู่ภายในวัดพระธาตุห้าดวงด้วย ที่ท่านเรียกว่าวิหาร 9 ครูบา เพราะยังมีพระครูบาอีก 3 รูป ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง อันมี 7. ครูบาศรีวิชัย 8. ครูบาอภิชัยขาวปี 9. ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ซึ่งครูบาทั้ง 3 รูปนี้ หลวงปู่พระครูบาวงศ์ท่านได้ปั้นพระรูปเหมือนประดิษฐานไว้ในวิหาร 9 ครูบาด้วย ในวิหารจึงมีรูปเหมือนครูบาทั้งหมด 9 รูป ท่านจึงเรียกวิหารนี้ว่า "วิหาร 9 ครูบา" จนกระทั่งถึง พ.ศ.2468 พระครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้มาบูรณะพระธาตุทั้ง 5 องค์จนสำเร็จ แล้วได้ทำการฉลองสมโภชองค์พระธาตุ เมื่อทำการฉลองสมโภชแล้ว ท่านพระครูบาศรีวิชัยจึงได้เดินทางกลับวัดบ้านปาง(อำเภอลี้) หลังจากนั้นไม่นาน วัดพระธาตุห้าดวงก็กลับร้างอีกครั้ง ต่อมา พ.ศ.2501 นาย สนิท จิตวงศ์พันธ์ มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอลี้ มีใจศรัทธาที่จะบูรณะวัดพระธาตุห้าดวง จึงได้นำศรัทธาประชาชนมาช่วยแผ้วถางและได้นิมนต์หลวงปู่พระครูบาชัยยะวงศาพัฒนาและครูบาขาวปี (วัดพระบาทผาหนาม อำเภอลี้) มาทำการบูรณะวัดพระธาตุห้าดวงอีกครั้ง จนถึง พ.ศ.2504 หลวงปู่พระครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ท่านจึงได้มาจำพรรษา ณ วัดพระธาตุห้าดวง 1 พรรษา โดยท่านเดินทางจากวัดห้วยน้ำอุ่น (อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่) ปัจจุบันวัดพระธาตุห้าดวง ซึ่งแต่ก่อนมีสภาพที่เสื่อมโทรม เนื่องจากขาดการดุแล ขาดผู้ที่มีศรัทธามาช่วยทะนุบำรุงอุปถัมภ์ บัดนี้ วัดพระธาตุห้าดวงได้รับการบูรณะและเริ่มทำการก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ทำให้สภาพของวัด ได้กลับฟื้นคืนมาเป็นสถานที่สำคัญในพระพุทธศาสนา ดั่งที่ท่านทั้งหลายได้เห็นประจักษ์แก่สายตาของท่านเวลานี้ ก็ด้วยความเมตตาปราณีอย่างหาที่สุดประมาณมิได้จากพระเดชพระคุณหลวงปู่พระครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ทีท่านได้เมตตาดูแลอุปถัมภ์ วัดพระธาตุห้าดวงแห่งนี้พร้อมไปด้วยคณะศิษย์ของท่านและคณะศิษย์ของพระเดช พระคุณหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ (วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี) ที่ได้ดำเนินรอยตามพระเดชพระคุณทั้งสองที่พระคุณท่านได้อุทิศชีวิตและร่างกาย ของท่านเพื่อพระพุทธศาสนาและเพื่อความสุขของบรรดาลูกหลานทุกคน ที่มีความต้องการที่จะพ้นทุกข์และประสบความสุขที่แท้จริง